loading

ShowRoom

ความแตกต่างของการสื่อสารแบบ “One-Way” vs “Two-Way” จะเลือกเวย์ไหนมาใช้ ในงานประชาสัมพันธ์

หากพูดถึง “การสื่อสารในงานประชาสัมพันธ์” หลายคนคงคุ้นหูกันอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้เราจะหยิบเรื่องของการเลือกใช้การสื่อสารทั้งสองรูปแบบ ได้แก่ การสื่อสารทางเดียว (One-way Communications) และ การสื่อสารสองทาง (Two-way Communications) ในงานประชาสัมพันธ์ ท่ามกลางยุคโควิด-19 หรือย้อนกลับไปในช่วงสถานการณ์ปกติ มาดูกันว่าควรเลือกใช้รูปแบบไหน ให้ตอบโจทย์ที่สุด

ก่อนอื่นมาฟื้นฟูความรู้กันสักนิด..

การสื่อสาร (Communications) คือ กระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ จากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ S M C R

ผู้ส่งสาร (Sender) >> สาร (Message) >> ช่องทางการสื่อสาร (Channel) >> ผู้รับสาร (Receiver)

โดยรูปแบบการสื่อสาร แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสื่อสารทางเดียว (One-way Communications) และ การสื่อสารสองทาง (Two-way Caommunications)

ซึ่งในงานประชาสัมพันธ์ (PR) ที่เราเห็นส่วนใหญ่ก็มักจะใช้การสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบ คือ การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communications) อาทิ การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release / Scoop News), VDO Content ฯลฯ และ การสื่อสารสองทาง (Two-Way Communications) เพื่อเชิญสื่อมวลชนมาร่วมงาน อาทิ งานแถลงข่าว (Press Conference), Site Visit หรือสัมภาษณ์พิเศษ (Exclusive Interview / Group Interview) เป็นต้น

ทั้งนี้ การจะเลือกใช้การสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ส่งสารและผู้รับสารมากที่สุด อาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่างควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็น สิ่งที่องค์กรต้องการนำเสนอ อาทิ หากต้องการสร้างการรับรู้ หรือแชร์ความรู้ (Knowledge) ต่างๆ ก็อาจจะเลือกใช้ การสื่อสารทางเดียว (One-way Communications)

แต่หากต้องการการ Feedback เพื่อดูกระแสการตอบรับจากทั้งสื่อและลูกค้าแบบทันที ก็สามารถใช้ การสื่อสารสองทาง (Two-way Communications) ได้

ซึ่งในสถานการณ์ปกติทั่วไปที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีการจัดงานแถลงข่าวเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่สามารถจัดงานต่างๆ ได้ การสื่อสารแบบสองทางหรือแบบ Face to Face อาจจะทำได้ค่อนข้างลำบาก แต่ก็นับว่าไม่ยากจนเกิดไป ในโลกดิจิทัล ซึ่งเราอาจจะเลือกใช้การแถลงข่าวผ่านช่องทางวีดีโอคอล หรือไลฟ์สด ที่แม้จะไม่เห็นหน้ากันแต่ยังสามารถได้รับ Feedback หรือการตอบโต้ผ่านการคอมเม้นท์ได้

แต่ข้อควรระวังของการสื่อสารสองทางผ่านช่องทางโซเชียล คือ ความเสถียรของอินเตอร์เน็ตในแต่ละที่ อาจทำให้ผู้รับสารได้รับสารที่ไม่ครบ ตกหล่นและเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้นทีม PR ต้องมีสติ และไวต่อทุกสถานการณ์ สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ที่สำคัญต้องวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านรูปแบบไหน สิ่งที่นักประชาสัมพันธ์ (PR) ต้องคำนึงเสมอคือ ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ ความรวดเร็ว และการแก้ปัญหาในกรณีที่หากสารที่ส่งไปเกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะการสื่อสารแบบสองทาง ที่อาจจะคอนโทรลได้ยากกว่า การสื่อสารทางเดียว

Share